จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สัดส่วนของชีวิต (Proporlife)



Proportion มีความหมายว่า สัดส่วนของภาพ
แต่หากจะเปรียบสัดส่วนของภาพ ให้เข้ากันได้กับการดำเนินชีวิตล่ะ ?

หากใครเคยเรียนวิชาศิลปะ หรือ วิชาถ่ายรูป อาจจะเคยพอได้ยินเรื่ององค์ประกอบภาพมาบ้างแล้ว
โดยสัดส่วนที่เห็นกันส่วนใหญ่นั้น เช่น 2:3 1:3 เป็นต้น การรักษาสัดส่วนของภาพไว้ จะทำให้ภาพนั้นมีความสมดุล ดูกลมกลืนกัน ในชีวิตจริง ความสมดุลไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนที่ตายตัว แต่

มันอยู่ที่ว่า เราควรจัดสรรมันยังไงเมื่ออยู่ในสถานการณ์นั้นๆต่างหาก

เรื่องสัดส่วนนั้น จะพอดีหรือไม่ มักขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และ ความรู้สึกของแต่ละคน
เพราะทุกคนนั้นแตกต่างกัน สัดส่วนของชีวิตจึงแตกต่างกันด้วย ผู้เขียนจะเขียนแนวทางกว้างๆ เพื่อให้ผู้อ่านนำไปสานต่อแนวคิดออกไปด้วยตัวเอง เพราะอย่างที่บอกคือ ทุกคนมีความแตกต่างกัน ทางเลือกของชีวิตจึงต่างไปตามวิถี

1. สัดส่วน 1:3 ส่วนใหญ่แล้วสัดส่วนนี้มักจะเน้นไปที่พื้นหลัง ส่วนตัววัตถุนั้นจะเป็นองค์ประกอบเสริม

       ใช้ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ? สัดส่วนนี้ มีไว้สำหรับคนเจียมเนื้อเจียมตัว แน่นอนว่าบางสถานการณ์ เราจำเป็นต้องถ่อมตัวด้วยการ วางสัดส่วนชีวิตไว้ที่ 1:3 ไม่โดดเด่น แต่เป็นส่วนหนึ่งเสมอ

2. สัดส่วน 2:3 เน้นรายละเอียด มากกว่าพื้นหลัง

       ใช้ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ? สัดส่วนนี้ ใช้กับการเป็นผู้นำ ไม่ใช่ทั้งหมดสามส่วน เพราะการเป็นผู้นำนั้น
เรามีความโดดเด่นก็จริง แต่ควรเหลือหนึ่งส่วน ไว้ตาม ไว้รับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้ตามเสมอ
เพราะผู้นำที่ดี ต้องเป็นผู้ตามที่ดีด้วย


       สัดส่วน 3:3 นั้น ผู้เขียนขอไม่กล่าวถึง ถ้าคุณอยากมีแค่ฟ้า คุณก็จะเห็นแค่ฟ้า ถ้าคุณอยากมีแค่ดิน คุณก็มีแค่ดิน ไม่มีชีวิตใคร สมบูรณ์แบบขนาดมีชีวิตแบบเดียวไปตลอดกาลได้ ไม่มีใครทุกข์ และไม่มีใครสุข ได้เพียงอย่างเดียวในหนึ่งชีวิต
มันอยู่ที่ว่า คุณจะจัดสรรสัดส่วนความสุข และ ความทุกข์ เป็นเท่าไหร่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวคุณ .


3. สัดส่วนสามเหลี่ยม การจัดวางสัดส่วนแบบสามเหลี่ยม จากฐาน ถึง ยอด

       ใช้ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ? ระบบชนชั้น มีในทุกสังคม และทุกที่ มันอยู่ที่ว่าเราอยากจัดสรรตัวเองไปอยู่ส่วนไหนของสัดส่วนสามเหลี่ยม คุณอยากอยู่เป็นฐาน หรืออยากอยู่บนยอดของสามเหลี่ยมล่ะ ?

4. สัดส่วนทองคำ (The Golden mean) เป็นสัดส่วนที่งดงาม ลงตัว ทางศิลปะ มีลักษณะเป็นรูปก้นหอยเคลื่อนที่จากมุมหนึ่งเข้าสู้จุดศูนย์กลางอย่างสวยงาม


     ใช้ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ? ผู้เขียนคิดว่า สัดส่วนนี้ควรใช้ในทุกวินาทีของชีวิต ชีวิตเราจะลงตัว จะสมบูรณ์ได้เพราะเรามีความพอดี มีความรอบคอบ และมีสติทักการตัดสินใจ ปรับตัวเองเข้าสู่จุดศูนย์กลาง ปรับตัวเองเข้าสู่ความดีงาม ความเหมาะสมอย่างรอบคอบ อย่างช้าๆแต่มีสติทุกขั้นตอน ช้าๆได้พร้าเล่มงาม ใช้ชีวิตให้มีค่า ใช้ชีวิตดั่งสัดส่วนทองคำ



     

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์กัน



องค์ประกอบศิลป์จากวิชาศิลปะศึกษาทั่วไปนั้นประกอบไปด้วย



      1. สัดส่วนของภาพ (Proportion)
      2. ความสมดุลของภาพ (Balance)
      3. จังหวะลีลาของภาพ (Rhythm)
      4. การเน้นหรือจุดเด่นของภาพ (Emphasis)
      5. เอกภาพ (Unity)
      6. ความขัดแย้ง (Contrast)
      7. ความกลมกลืน (Harmony)


หากเราดำเนินชีวิตเรา ทำให้ชีวิตเราเป็นศิลปะ การใช้ชีวิตในแต่ละวันอาจจะไม่ยาก ถ้าเราเรียนรู้และเข้าใจองค์ประกอบของชีวิตจริงๆ บางทีการจัดองค์ประกอบให้ชีวิตเรามีความสุข มันคงไม่ใช่เรื่องยาก ..

องค์ประกอบศิลป์ยังสามารถแบ่งออกไปได้อีก แต่ผู้เขียนจะกล่าวถึงประเด็นอื่นในบทความต่อๆไป

ผู้เขียนไม่ใช่ผู้ที่เก่งกาจทางด้านศิลปะแต่อย่างใด แต่ผู้เขียนชอบที่จะอ่าน ค้นคว้า
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า ณ ตอนนี้ ผู้เขียนพยายามที่จะมองทุกอย่างให้ออกมาในมุมมองที่ดี ทำให้ชีวิตเป็นชีวิตที่เราสามารถทำให้มันมีความสุขได้แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สะสมไปเรื่อยๆมันก็จะกลายเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ได้ สุขน้อย ก็ทุกข์น้อย ในความคิดของผู้เขียน ทุกคนเลือกได้ว่า จะสุขมาก หรือ สุขน้อย แต่สิ่งที่ทุกคนมักจะรับไม่ได้ คือสิ่งที่ตามมาหลังจากความสุขผ่านพ้นไปแล้ว สุขน้อย แต่สุขนาน หรือ สุขมาก แต่ชั่วคราว หรือใครจะสามารถดำเนินชีวิต เลือกทางให้ชีวิต ให้มีความสุขมาก และทุกข์น้อย แต่ในความเป็นจริงแล้วคนในปัจจุบัน มีความสุขก็มีได้ แต่มักจะเอาใจของตัวเองไปผูกติดไว้กับสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ ไม่มีใครทุกข์มากไปนานๆ มีแต่ทุกข์ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น ทุกคนมีทางเดินของตัวเอง และทุกๆการตัดสินใจ เราเป็นคนเลือก ไม่ใช่คนอื่นแต่อย่างใด สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อถึงในทุกประโยค เป็นเพียงแนวทางหนึ่งจากพันล้านแนวทางเท่านั้น หากผู้อ่านมองมุมเดียวกับผู้เขียน แล้วมีความสุขได้ในทุกวัน ผู้เขียนก็ถือว่าบทความเหล่านี้ประสบความสำเร็จในเป้าหมายของมันแล้ว

โดยในบทความต่อไป ผู้เขียนจะเสนอแนวคิดและมุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์กันขององค์ประกอบศิลป์ในแต่ละประการ เคียงคู่ไปกับแนวทางในการดำเนินชีวิตให้มีความสุข ตามมุมมองของผู้เขียน หากใครมีข้อเสนอแนะประการใด หรือต้องการปรึกษาปัญหาใดๆ ผู้เขียนก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง :)

ประยุกต์โดยสนธิ



เป็นเรื่องที่ดีที่แรงบันดาลใจจะเกิดขึ้นจากการมองดูผู้อื่นใช้ชีวิตไปตามเส้นทางที่ขีดเอาไว้ในแต่ละวัน

สวัสดีผู้อ่านทุกคนที่หลงเข้ามาและได้อ่านประโยคที่คนธรรมดาคนหนึ่งได้คิดก่อนจะเขียน

มาทำความรู้จักกันสักเล็กน้อยก่อน
Compozitiv ผู้เขียนต้องการจะสื่ออะไร ?
คำนี้ เกิดจากการที่ผู้เขียนลองนั่งคิดชื่อนามแฝงในการเขียนบทความ และสรุปออกมาได้เป็นการนำคำสองคำมาสนธิกัน
คือคำว่า Composition ซึ่งสามารถแปลได้ว่า องค์ประกอบศิลป์ หรือ การจัดวาง การประกอบขึ้น
กับคำว่า Positive ที่แปลว่า แง่บวก แต่ในที่นี้ ผู้เขียนใช้คำภาษาโรมัน ที่มีความหมายเดียวกัน คือคำว่า Pozitiv
เมื่อนำมารวมกัน ผู้เขียนต้องการจะสื่อถึง การจัดองค์ประกอบให้ชีวิต มีสิ่งดีๆเข้ามา มีความคิดเชิงบวกในทุกวัน

จุดประสงค์ที่เริ่มเขียนบทความขึ้นเพราะ โดยส่วนตัวผู้เขียนเป็นคนคิดมาก คิดเล็กคิดน้อย ชอบย้ำคิดบ่อย
จึงทำให้เกิดอารมณ์นอยบ่อยครั้ง เชื่อว่าหลายคนคงเป็นเหมือนกัน

อยากมองโลกในมุมใหม่ ในมุมดีๆที่มีอยู่ เชื่อว่ามันมีอยู่เยอะจริงๆ มุมดีๆในโลกรอบตัวของเรา
การเขียนบทความต่อจากนี้จึงถือว่าเป็นการชักจูงตัวผู้เขียนให้มองแต่มุมดีๆรอบตัวเพื่อนำมาบอกเล่าและแบ่งปันต่อไป
ซึ่งถ้าผู้อ่าน อ่านแล้วได้อะไรจากบทความเหล่านี้ ก็เป็นความยินดีและซาบซึ้งต่อตัวผู้เขียนเป็นอย่างมาก
คำที่ใช้เขียน หรือ ประโยคที่พรรณนา อาจจะไม่สวยหรูอย่างนักเขียนมืออาชีพ แต่สิ่งที่เขียนทั้งหมดนั้นมาจากความรู้สึกที่อยากจะแบ่งปันจริงๆ ถ้าผู้อ่านมีความคิดเห็น หรือข้อติชมใดๆ ผู้เขียนยินดีและเต็มใจรับฟังและนำไปปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเสมอ ต่อจากนี้ ขอให้เรามาเป็นเพื่อนร่วมทาง ที่นอยบ่อย คิดมากบ่อย แต่พลิกเรื่องเหล่านั้นให้กลายเป็นมุมดีๆได้ ให้กำลังใจตัวเองในทุกวัน มีความสุขเล็กๆน้อยๆกับชีวิตทุกวัน มันจะคุ้มค่ากับการนั่งเขียนและนั่งอ่านแน่นอน :)